แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

รูปหล่อก้นระฆังหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พุทธคุณที่อัศจรรย์ ทั้งเรื่อง เมตตาค้าขาย มหาอุดคงกระพัน
14 กันยายน 2563    11,525

รูปหล่อก้นระฆังหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค

โดย ศาล มรดกไทย

 

ฉบับ 111 พฤศจิกายน 2554 หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค

 

วัตถุมงคลในประเภทรูปหล่อของหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค เป็นที่นิยมในระดับต้นๆ ของพระเครื่องที่ท่านได้ปลุกเสกเอาไว้ เพราะรูปแบบที่สวยงาม สะสมง่าย มีประวัติการสร้างและจํานวนชัดเจน ที่สําคัญหลวงพ่อพรหมเป็นพระเกจิอาจารยองค์หนึ่ง ที่มีลูกศิษย์นับถือมากในเมืองไทย ด้วยพุทธคุณในพระเครื่องสูงส่งเป็นที่เชื่อถือมานาน เพราะหลวงพ่อท่านปลุกเสกแบบตั้งใจ ให้ลูกศิษย์เอาไว้คุ้มครองตัว ดังอมตะวาจาที่หลวงพ่อเคยกล่าวไว้ว่า “ข้าฯ ลงให้หมดทุกอย่าง ทั้งมหาอุด ยิงไม่ออก คงกระพัน ฟันไม่เข้า เมตตามหานิยม ซื้อง่ายขายคล่อง ลงไม่ได้อยู่อย่างเดียว คือ กันคนอิจฉาริษยาไม่ได้ เพราะว่าไม่มีคาถาห้ามปากคน” ขนาดหลวงพ่อยังกล่าว แบบนี้แล้วจะไม่ให้ลูกศิษย์มั่นใจในวัตถุมงคลของท่านได้อย่างไร


ประวัติหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค

ดั่งเดิมท่านเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กําเนิดที่ตําบลบ้านแพรก อําเภอมหาราช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ.2426 ในวัยเยาว์ท่านก็เหมือนเด็กชาวบ้านทั่วไป ช่วยบิดามารดาทํางานบ้านและได้ร่ำเรียนหนังสือกับวัดใกล้บ้าน

จนเมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทที่วัดเขียนลาย อําเภอบ้านแพรก เมื่อ พ.ศ.2447 ได้รับฉายาว่า “ถาวโร" มีหลวงพ่อถมยา วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังบวชแล้วได้ศึกษาวิชาเรียนภาษาขอมและได้เริ่มศึกษาการนั่งวิปัสสนากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ของท่าน สําหรับพระอาจารย์ที่สอนวิชาอาคมให้หลวงพ่อนับว่ามีจํานวนมาก เพราะท่านเรียนกับทั้งฆราวาสที่เก่งทางคาถาอาคม และเรียนกับพระอาจารย์อีกหลายๆ รูป

โดยหลวงพ่อพรหมชอบเดินทางธุดงค์ไปหลายๆ จังหวัดทั่วเมืองไทย รวมถึงประเทศพม่าท่านยังเคยเดินธุดงค์ไปนมัสการถึงพระเจดีย์ชเวดากอง ที่สําคัญหลวงพ่อพรหมมีความสนิทสนมกับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ซึ่งหลวงพ่อเดิมเรียกหลวงพ่อพรหมว่า “ท่านพรหมน้องเรา” แสดงถึงความเป็นกันเองที่หลวงพ่อเดิมมอบให้ และหลวงพ่อพรหมท่านมักไปเยี่ยมหลวงพ่อเดิมบ่อยๆ ซึ่งท่านทั้งสองคงมีการแลกเปลี่ยนวิชาอาคมซึ่งกันและกัน ด้วยความที่หลวงพ่อเดินธุดงค์มาจังหวัดนครสวรรค์บ่อยๆ จนท่านมาพบเขาช่องแค ที่อําเภอตาคลี โดยหลวงพ่อท่านเข้าไปหลบฝนที่กําลังตกในถ้ำ และได้พบว่ามีความสงบเหมาะกับการนั่งวิปัสสนาบําเพ็ญธรรม เมื่อชาวบ้านได้มานมัสการถวายอาหารแก่หลวงพ่อด้วยความเลื่อมใส จึงได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ที่นี้ และได้ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างวัดช่องแค ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2460 จนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบันนี้

ในสมัยที่หลวงพ่อปกครองวัดท่านได้ ช่วยเหลือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านยิ่ง ด้านอภินิหารของหลวงพ่อเป็นที่กล่าวขานมานาน ว่าท่านมีสมาธิสูงสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยํา เป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์ สามารถห้ามฝนพายที่กําลังจะพัดและตกลงมาที่วัดระหว่างมีงานวัดได้ ฯลฯ หลวงพ่อพรหม ตั้งแต่ท่านสร้างวัดแล้วท่านก็อยู่จําพรรษาที่วัดตลอดมา

จนเมื่อถึงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2518 ท่านได้มรณภาพอย่างสงบที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ รวมอายุได้ 91 ปี 71 พรรษา และเป็นที่มหัศจรรย์ เมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้วร่างกายท่านไม่เน่าเปื่อย คงเหมือนท่านนอนหลับเป็นปกติ แถมเส้นผมหรือเล็บยังยาวเพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งลูกศิษย์ได้นําร่างของท่านใสโรงแก้วให้ประชาชนได้กราบไหว้มาจนถึงทุกวันนี้

 

วัตถุมงคลรูปหล่อเหมือนก้นระฆัง

หลวงพ่อพรหมท่านนับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีสมาธิวิชาอาคมสูงมาก ท่านสร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายรูปแบบ โดยหลวงพ่อจะมีวิธีปลุกเสกพระไม่เหมือนพระเกจิองค์ไหน เพราะหลวงพ่อท่านจะลืมตาเอามือจับไปที่กองวัตถุมงคล บางครั้งก็จะหยดเทียนหรือรดน้ำมนต์ลงไปที่วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสก บางที่ท่านก็จะเอามือควานหรือคนไปให้ทั่วจนท่านเห็นว่ามีรัศมีพุ่ง (ท่านเห็นคนเดียว) ออกมาเป็นอันใช้ได้ ทั้งท่านยังเคยกล่าวไว้ว่า “พระเครื่องของท่านแม้จะหักเหลือเพียงครึ่งเดียวก็ยังใช้ได้ มีพุทธคุณเหมือนเต็มๆ องค์ทุกประการ”

 

ฉบับ 111 พฤศจิกายน 2554 รูปหล่อก้นระฆังหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค-1

 

สําหรับพระรูปเหมือนรุ่นก้นระฆังสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2512 ซึ่งขณะนั้นโบสถ์ใหม่ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว ลูกศิษย์ต้องการสร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานรูปหล่อขนาดใหญ่ของหลวงพ่อพรหม เพื่อให้ชาวบ้านได้มากราบไหว้บูชาจึงต้องหาทุนทรัพย์ โดยคณะกรรมการวัด นําโดยคุณละออ คุ้มเขต (หลวงพ่อละออในปัจจุบัน) นายอุทัย เพชรมนตรี นายฉัน ถาปนพัฒนกุล ได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อหารายได้มาสร้างมณฑป โดยมีวัตถุมงคลทั้งรูปเหมือน เหรียญ ฯลฯ

สําหรับรูปหล่อก้นระฆังสร้างโดยวิธีการปั๊มมีเนื้อทองเหลือง 1000 องค์ เนื้อทองแดง 5500 องค์ เนื้อตะกั่ว350 องค์ ซึ่งเนื้อทองแดงจะมีทั้งรมสีดําและรมสีน้ำตาล รวมแล้วมีพระรูปหล่อครั้งนี้ประมาณ 6850 กว่าองค์ ด้านใต้ฐานได้ทําโค้ดเป็นรูประฆังมีเลขสามอยู่ข้างใน (เลขสามหมายถึงสามไตรมาสที่ขอให้หลวงพ่อปลุกเสกให้ถึงสามไตรมาส) ซึ่งโค้ดนี้นายฉั่นเป็นผู้ไปสร้างมาแล้ว ว่ากันว่าพระทั้งหมดแกตอกโค้ดอยู่คนเดียวเพื่อไม่ให้ใครมาทําให้วุ่นวายทําให้พระบางองค์โค้ดระฆังบางองค์ก็เต็มใบ บางองค์ก็ไม่เต็มใบ แต่เป็นจุดที่ทําให้ง่ายในการพิจารณา

รูปหล่อหลวงพ่อพรหมก้นระฆังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตลอดมา เพราะหลวงพ่อท่านได้ปลุกเสกเป็นอย่างดี ผู้ที่บูชาก็พบแต่พุทธคุณที่อัศจรรย์ ทั้งเรื่อง เมตตาค้าขาย มหาอุดคงกระพัน ที่สําคัญพระรุ่นนี้เล่นหาสะสมง่าย เพราะมีความคมชัดที่เกิดจากการปมและยังมีโค้ดใต้ฐานเป็นตัวชี้ขาด นับเป็นพระสูงค่าสูงราคาที่น่าสะสมบูชาติดตัวเป็นที่สุด

 

ฉบับ 111 พฤศจิกายน 2554 รูปหล่อก้นระฆังหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค-4

 

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณแดง รามอินทรา, คุณเทพ 116, คุณแพน 111, คุณเล็ก บางลำภู

พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 9 ฉบับ 111 พฤศจิกายน 2554 หน้า 26-27